วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

หาวิธีเข้าถึงใจลูกวัยรุ่น

 หา​วิธี​เข้า​ถึง​ใจ​ลูก​วัยรุ่น | สำหรับ​ครอบครัว 

 - ปัญหา
ตอนที่ลูกเป็นเด็ก เขาคุยกับคุณทุกเรื่อง. แต่พอเป็นวัยรุ่น เขากลับไม่บอกอะไรคุณเลย. เมื่อคุณพยายามชวนคุย เขาก็ตอบแบบเสียไม่ได้หรือพูดจากวนโมโหจนบ้านแทบกลายเป็นสนามรบ.
          คุณสามารถเรียนรู้เคล็ดลับที่จะเข้าถึงใจลูกวัยรุ่นได้. แต่ก่อนอื่น ให้เรามาดูสาเหตุสองประการที่ทำให้เกิดปัญหานี้.

- สาเหตุของปัญหา -

 ลูกอยากมีอิสระ. ก่อนที่เด็กวัยรุ่นจะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ เขาต้องค่อยๆฝึกรับผิดชอบตัวเองเหมือนกับการขยับจากที่นั่งผู้โดยสารไปนั่งหลังพวงมาลัยและเรียนรู้ที่จะนำพาชีวิตของตนแล่นไปบนเส้นทางที่มีอุปสรรคขวากหนาม. จริงอยู่ วัยรุ่นบางคนต้องการอิสระมากกว่าที่เขาควรได้รับ แต่ในอีกด้านหนึ่งพ่อแม่บางคนก็ให้อิสระลูกน้อยเกินไป. สถานการณ์เช่นนี้อาจสร้างความตึงเครียดให้กับทั้งพ่อแม่และลูกวัยรุ่น. แบรด *วัย 16 ปีบ่นว่า “พ่อแม่ของผมพยายามควบคุมชีวิตผมทุกฝีก้าว. ถ้าถึงอายุ 18 พ่อแม่ยังไม่ให้อิสระผมมากกว่านี้ ผมจะไปจากบ้านแน่ๆ!”
 ลูกรู้จักคิดแบบมีเหตุมีผล. เด็กเล็กมักจะคิดตามที่พวกเขาเห็น เช่น ขาวก็คือขาว ดำก็คือดำ แต่เด็กวัยรุ่นจะมองลึกกว่านั้นและสามารถแยกแยะรายละเอียดที่ซับซ้อนได้. ความสามารถนี้เป็นส่วนสำคัญของการคิดหาเหตุผลซึ่งจะช่วยให้หนุ่มสาวตัดสินใจเรื่องต่างๆในชีวิตได้อย่างถูกต้อง. ยกตัวอย่าง ความยุติธรรมในความคิดของเด็กเป็นแบบง่ายๆไม่ซับซ้อน เช่น ‘แม่หักคุกกี้เป็นสองชิ้นแล้วให้หนูครึ่งหนึ่ง ให้น้องครึ่งหนึ่ง.’ ในกรณีนี้ ความยุติธรรมเป็นเพียงสูตรคณิตศาสตร์. แต่สำหรับเด็กวัยรุ่น ความยุติธรรมเป็นเรื่องซับซ้อนกว่านั้น. ที่จริง ความยุติธรรมไม่ได้หมายความว่าจะต้องเท่าเทียมกันและความเท่าเทียมกันก็ไม่ได้หมายความว่าจะยุติธรรมเสมอไป. เด็กวัยรุ่นที่รู้จักคิดหาเหตุผลจะขบคิดเรื่องที่ซับซ้อนเช่นนั้น แต่ข้อเสียก็คือลูกวัยรุ่นจะเริ่มมีความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับคุณ.

 - สิ่งที่คุณทำได้

 หาโอกาสคุยกันแบบสบายๆ. ฉวยจังหวะตอนที่ทั้งคุณและลูกรู้สึกผ่อนคลาย. ตัวอย่างเช่น พ่อแม่บางคนรู้สึกว่าลูกวัยรุ่นจะเปิดใจพูดคุยมากกว่าระหว่างที่ช่วยกันทำงานบ้าน หรือนั่งรถไปไหนมาไหนด้วยกัน เพราะในเวลาเช่นนั้นเขาจะรู้สึกเป็นกันเองกับพ่อแม่มากกว่าตอนที่นั่งพูดคุยแบบเป็นทางการ.—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: พระบัญญัติ 6:6, 7

 อย่าพูดยืดยาว. คุณไม่จำเป็นต้องแจกแจงทุกรายละเอียดจนทำให้การพูดคุยกันกลายเป็นการทะเลาะกัน. จงพูดเฉพาะเรื่องที่เป็นปัญหา ... แล้วก็หยุด. ลูกจะ “ได้ยิน” เรื่องที่คุณพูดจริงๆก็ตอนที่เขาอยู่คนเดียวและมีเวลาคิดถึงเรื่องที่คุณพูดกับเขา. จงให้เขามีโอกาสได้ใช้ความคิดบ้าง.—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 1:1-4

 รับฟังและรู้จักผ่อนปรน. เพื่อจะเข้าใจปัญหาทั้งหมด คุณควรตั้งใจฟังให้ดีก่อนโดยไม่พูดแทรก. เมื่อตอบ คุณก็ควรตอบแบบมีเหตุผล. ถ้าคุณเข้มงวดกับกฎที่คุณตั้งไว้มากเกินไป ลูกวัยรุ่นก็อาจหาช่องที่จะแหกกฎ. หนังสือพูดคุยกับลูกวัยรุ่นเสมอ (ภาษาอังกฤษ) เตือนว่า “ถ้าทำเช่นนั้น เด็กอาจกลายเป็นคนตีสองหน้า. เมื่ออยู่ต่อหน้าพ่อแม่ เด็กจะพูดสิ่งที่พ่อแม่อยากได้ยิน แต่พอลับหลังพวกเขาก็จะทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ.”—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: ฟิลิปปอย 4:5

 ใจเย็นๆ. เด็กสาวชื่อแครีบอกว่า “เวลาที่เราคิดไม่ตรงกัน ไม่ว่าฉันจะพูดอะไร แม่ก็อารมณ์เสียได้ทุกเรื่อง. มันทำให้ฉันโมโหมาก. คุยกันอยู่ดีๆก็กลายเป็นทะเลาะกันเสียนี่.” แทนที่จะแสดงอารมณ์มากเกินไป จงพูดสิ่งที่เป็นเหมือน “กระจก” สะท้อนความรู้สึกของลูก. ตัวอย่างเช่น แทนที่จะพูดว่า “ลูกจะกลุ้มใจทำไมกับเรื่องแค่นี้!” คุณน่าจะพูดว่า “แม่รู้นะว่าเรื่องนี้ทำให้ลูกกลุ้มใจมาก.”—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: สุภาษิต 10:19

 แนะนำแทนที่จะออกคำสั่ง. ความสามารถในการคิดหาเหตุผลของลูกวัยรุ่นเป็นเหมือนกล้ามเนื้อที่ต้องค่อยๆสร้างขึ้น. ดังนั้น เมื่อลูกเจอปัญหา อย่าแก้ปัญหาให้เขา. จงให้เขามีโอกาส “ฝึก” ใช้ความคิดและพูดออกมาว่าเขาจะแก้ปัญหาอย่างไร. หลังจากปรึกษาหารือกันแล้วว่ามีทางแก้อะไรบ้าง คุณอาจพูดกับลูกว่า “ทั้งหมดนี้เป็นวิธีที่น่าจะใช้ได้. ลูกลองไปคิดดูสักสองสามวัน แล้วค่อยมาคุยกันใหม่ว่าลูกชอบวิธีไหนและทำไมถึงเลือกวิธีนั้น.”—คำแนะนำในคัมภีร์ไบเบิล: ฮีบรู 5:14

| สำหรับลูกวัยรุ่น |

           คุณอยากให้พ่อแม่ให้อิสระคุณมากขึ้นไหม? คุณอยากให้ท่านเข้าใจคุณจริงๆไหม? ไม่ยากเลยที่คุณจะได้ทั้งอิสระและความเข้าใจจากพ่อแม่! คุณต้องทำอย่างไร? จงเต็มใจเล่าให้พ่อแม่ฟังว่าแต่ละวันคุณทำอะไรบ้าง. จงพูดอย่างเปิดอก. ถ้าคุณไม่เล่าอะไรให้พ่อแม่ฟังเลย ท่านก็ไม่อาจไว้ใจคุณได้อย่างเต็มที่ และความไว้ใจนี้แหละเป็นกุญแจสำคัญที่พ่อแม่จะให้อิสระคุณมากขึ้น.


           สิ่งสำคัญคือ อย่าให้พ่อแม่พูดอยู่ฝ่ายเดียว. คุณเองต้องพูดออกมา. จงเล่าให้ท่านฟังว่าวันนี้คุณทำอะไรบ้าง และถามเรื่องของพ่อแม่ด้วย. ถ้าคุณไม่พอใจอะไร คุณก็ต้องเรียนรู้ที่จะพูดกับพ่อแม่ด้วยความนับถือ. การสื่อสารเป็นทักษะที่คุณจำเป็นต้องใช้เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่. คุณจะฝึกตั้งแต่ตอนนี้เลยได้ไหม?

ที่มา : https://www.jw.org/th/สิ่งพิมพ์และวีดิทัศน์/วารสาร/g201301/วิธีเข้าถึงใจลูกวัยรุ่น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น