![](http://www.thisisfamily.org/wp-content/uploads/2015/05/child-look.jpg)
| วัยรุ่นต้องการพ่อแม่ที่ให้อิสระและเปิดใจกว้างยอมรับ |
โดย… ดร. สมใจ รักษาศรี
(หมายเหตุ:
บทความนี้สรุปจากหนังสือ “เลี้ยงลูกวัยรุ่น”)
ความจำเป็นที่จะต้องให้อิสระและเปิดใจกว้างยอมรับ
เพราะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างเกิดขึ้นกับลูกวัยรุ่น
ทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ความรู้สึก
ส่งผลให้หลายสิ่งหลายอย่างในตัวลูกเปลี่ยนไป
บางทีจากเด็กที่น่ารักกลายเป็นวัยรุ่นที่ไม่ค่อยน่ารัก
บางทีจากเด็กเรียบร้อยกลายเป็นวัยรุ่นที่ไม่มีระเบียบเรียบร้อยเอาเสียเลย
หรือบางทีจากเด็กที่พูดเก่งกลายเป็นวัยรุ่นที่เงียบขรึม เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ
เพื่อเตรียมคน ๆ นั้นสู่วัยผู้ใหญ่
การตอบสนองของพ่อแม่จะมีผลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ หากพ่อแม่ตอบสนองด้วยการ “ขัดขวาง”
และไม่ยอมรับ ผลลัพธ์ก็คือการต่อสู้และการขัดขืน
ซึ่งอาจลงเอยด้วยความสัมพันธ์ที่แตกร้าว การตอบสนองในทางตรงกันข้าม คือ
เปิดใจกว้างและยอมรับกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมีศิลปะจะให้ผลดีกว่า
พ่อแม่จึงต้องเรียนรู้ว่าจะเปิดใจกว้างยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้อย่างไร
ประการแรกทำความเข้าใจพัฒนาการของลูก
เมื่อพ่อแม่เข้าใจว่าสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับลูกวัยรุ่นนั้นเป็นผลมาจากพัฒนาการทางร่างกาย
ความคิด จิตใจ และอารมณ์ของเขา (เช่น อารมณ์แปรปรวนขึ้น ๆ ลง ๆ
การเก็บเนื้อเก็บตัวไม่ค่อยพูดค่อยจา ท่าทียโส ดื้อรั้น ลองดี และเถียงคำไม่ตกฟาก)
การยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงของลูกก็จะง่ายขึ้น
ขณะเดียวกันสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำในตอนนี้คือ ควบคุมอารมณ์ ให้อภัย ให้โอกาส
และคอยช่วยเหลือลูกวัยรุ่นในการปรับตัวเพื่อให้เขาสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตินี้ไปให้ได้ โดยคิดถึงวันข้างหน้า
วันที่ลูกได้ก้าวพ้นช่วงแห่งความอลหม่านนี้แล้วและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง
ประการที่สองยืดหยุ่นในเรื่องที่สามารถยืดหยุ่นได้
การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับลูกวัยรุ่นทำให้หลาย
ๆ เรื่องในชีวิตของเขาเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่น
- การแต่งกาย
จะแต่งกายตามกระแสนิยมของวัยรุ่นในขณะนั้น
นอกจากนั้นยังชื่นชอบสิ่งของหรือเครื่องประดับที่วัยรุ่นทั่วไปกำลังนิยมกัน
เพลงและดนตรี
จะฟังเพลงที่วัยรุ่นกำลังนิยมกัน
มีนักร้องที่เป็นขวัญใจ และอาจจะเลียนแบบการแต่งตัวของนักร้องคนโปรด
- การคบเพื่อน
ใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น ให้ความสำคัญกับเพื่อน
บางครั้งรวมกลุ่มกันไปเที่ยว
การคบเพื่อนต่างเพศ เริ่มมีความชอบพอกับเพศตรงข้าม
ซึ่งอาจจะทำให้มีการแอบนัดพบกัน คุยกันบ่อยและนาน
- การเป็นตัวของตัวเองและการเชื่อมั่นในตัวเอง
ทำให้ไม่ค่อยอยากเพิ่งพ่อแม่ อยากตัดสินใจด้วยตัวเอง และมักไม่ต้องการคำแนะนำ
- คึกคะนอง ชอบลอง ชอบความเสี่ยงและความท้าทาย
- ชื่นชอบความทันสมัย
ทำให้เด็กวัยรุ่นอยากมีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัย ฯลฯ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในชีวิตของวัยรุ่น
ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเป็นเมื่อเขายังอยู่ในวัยเด็ก พ่อแม่จึงจำเป็นต้องยืดหยุ่นบ้างตามสมควร
หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าสิ่งใดควรยืดหยุ่นและยืดหยุ่นได้แค่ไหน คือ
- เรื่องที่ยืดหยุ่นนั้นจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อลูก
- เรื่องที่ยืดหยุ่นนั้นต้องไม่กระทบต่อการเรียน
- เรื่องที่ยืดหยุ่นนั้นต้องไม่ผิดกฎหมายและกฎระเบียบของสังคม
- เรื่องที่ยืดหยุ่นนั้นต้องไม่ผิดศีลธรรมหรือหลักคำสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์
- ต้องแยกให้ชัดเจนระหว่างเรื่องที่
“ต่อรองไม่ได้” กับ เรื่องที่ “ต่อรองได้”
ส่วนเรื่องที่สามารถยืดหยุ่นได้นั้นจะยืดหยุ่นได้มากน้อยแค่ไหนนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัวและข้อตกลงร่วมกันระหว่างพ่อแม่กับลูกวัยรุ่น ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว
บางทีสิ่งที่ครอบครัวหนึ่งยืดหยุ่น
แต่อีกครอบครัวหนึ่งอาจจะไม่ยืดหยุ่นขนาดนั้นก็ได้
ประการที่สามให้อิสระในขอบเขตที่เหมาะสม
การให้อิสระไม่ใช่การตามใจ
มันเป็นคนละเรื่องกัน แม้ว่าวัยรุ่นต้องการอิสระ แต่ก็ต้องมีขอบเขต
ไม่ใช่ตามใจไปเสียทุกอย่าง
เพราะการไม่ห้ามปรามลูกเสียเลยก็เท่ากับส่งเสริมให้เขาเสียคน
ไม่มีความสามารถที่จะเผชิญกับสภาพที่เป็นจริงในภายหลังได้
เด็กประเภทนี้พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็คาดหวังให้โลกประเคนทุกสิ่งให้
วัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการความเป็นอิสระ วัยนี้จึงไม่ค่อยชอบกฎเกณฑ์และการบังคับ
ไม่ชอบการตรวจสอบและการจ้ำจี้จ้ำไชจากผู้ใหญ่
ไม่ชอบให้ผู้ใหญ่เข้ามาก้าวก่ายในชีวิตของตน
เขาอยากเป็นตัวของตัวเอง คิดเอง ตัดสินใจเอง เพราะคิดว่าตัวเองโตแล้ว
แต่เราที่เป็นพ่อแม่ย่อมรู้ดีว่าถึงแม้เขาจะโตขึ้น แต่ก็ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอที่จะสามารถรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้อย่างดีโดยปราศจากการชี้นำและการช่วยเหลือของพ่อแม่
ประเด็นก็คือ พ่อแม่คิดอย่าง
ลูกวัยรุ่นก็คิดอีกอย่าง จึงเป็นเหตุให้ไม่เข้าใจกันและเกิดปัญหาความสัมพันธ์ขึ้น
ดังนั้นในฐานะพ่อแม่ เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะให้อิสระกับลูกเพื่อฝึกฝนและเตรียมเขาสำหรับการเป็นผู้ใหญ่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
แต่การให้อิสระโดยไม่เข้าไปเกี่ยวข้องเลยย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ดี
จึงต้องมีศิลปะในการให้อิสระในขอบเขตที่เหมาะสม ซึ่งทำได้โดย
ประการแรก
กำหนดขอบเขตของแต่ละเรื่องร่วมกันกับลูกวัยรุ่น และตราบใดที่ลูกยังอยู่ในขอบเขตนั้นเขาก็มีอิสระอย่างเต็มที่
พ่อแม่จะไม่เข้าไปก้าวก่าย เว้นแต่ลูกต้องการคำแนะนำหรือการช่วยเหลือ
ยกตัวอย่างเช่น ขอบเขตของการเรียนคือ ตั้งใจเรียนเต็มที่
รับผิดชอบเรื่องรายงานและการบ้านอย่างเต็มที่
ตามศักยภาพของลูกเกรดเฉลี่ยต้องไม่ต่ำกว่า 3.0
การเรียนพิเศษนั้นขึ้นอยู่กับความจำเป็น
ลูกเป็นคนตัดสินใจ ลูกรายงานให้พ่อแม่ทราบเป็นระยะ ๆ
ว่าการเรียนและผลการเรียนเป็นอย่างไร มีอะไรที่พ่อแม่ต้องช่วยเหลือหรือไม่ เป็นต้น
ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่กำหนดไว้ พ่อแม่ก็ไม่ต้องถามว่าทำการบ้านทำรายงานหรือยัง
ไม่ต้องคอยบ่นในเรื่องที่ลูกเอาแต่ฟังเพลงหรือเล่นเน็ต
แต่หากไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ พ่อแม่ก็จำเป็นต้องเข้ามาจัดการ
เพราะไม่เช่นนั้นอิสระที่ลูกต้องการจะกลายเป็นผลเสียต่อลูก
พ่อแม่อาจจะถามว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องกำหนดขอบเขตในเรื่องความมีอิสระ
คำตอบก็คือทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับลูก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียน ความรับผิดชอบ
และลักษณะนิสัย เป็นต้น
ประการที่สอง ใช้แนวทางประชาธิปไตยในบ้าน คือ
ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็น เสนอความคิด และสามารถเห็นขัดแย้งได้ด้วย
แต่ต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลและสุภาพ และเคารพความเห็นของผู้อื่น
การให้ลูกมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเปิดโอกาสให้ลูกได้รับรู้ว่าอะไรคือเหตุผลของข้อห้ามหรือข้อจำกัดที่มีอยู่
ยกตัวอย่างเช่น
พ่อแม่ห้ามไม่ให้ไปบ้านของเพื่อนผู้หญิงในขณะที่พ่อแม่ของเขาไม่อยู่
เพราะกลัวว่าฝ่ายหญิงจะเสียหาย หรืออาจจะเกิดการทดลองทำให้เกิดเรื่องไม่ดีขึ้นได้
ถ้าไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นและอภิปราย
ลูกก็จะไม่มีทางรู้ว่าอะไรคือเหตุผลที่พ่อแม่ไม่อนุญาต
ผลดีอีกประการหนึ่งของการใช้วิธีทางประชาธิปไตยในบ้านคือ
เป็นการฝึกให้ลูกยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
ไม่ใช่เอาแต่ความต้องการของตนเองฝ่ายเดียว และหากจะมีการโต้แย้งก็ต้องมีเหตุผลประกอบ
ไม่ใช่เอาอารมณ์ความรู้สึกเป็นใหญ่
ประการที่สาม
บอกให้ลูกรู้อย่างชัดเจนว่าพ่อแม่คาดหวังความประพฤติอย่างไรจากลูก
การต้องการให้ลูกดีอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ
ลูกต้องรู้ด้วยว่าพ่อแม่คาดหวังอะไรจากเขา และพ่อแม่ต้องการให้เขาทำอะไรและทำอย่างไร
บางครั้งแม่อาจจะบอกลูกว่าต้องจัดห้องนอนส่วนตัวของตัวเองให้เรียบร้อย
แต่ไม่ได้อธิบายว่าคำว่า “เรียบร้อย” ของแม่หมายความว่าอย่างไร
เขาจึงทำไปตามที่เขาคิดว่าถูกแล้ว
แต่กลับถูกตำหนิว่าไม่เรียบร้อย เพราะคำว่าเรียบร้อยในความหมายของแม่กับของลูกเป็นคนละความหมายกัน
ดังนั้นพ่อแม่จึงจำเป็นต้องสื่อสารอย่าง “ชัดเจน”
ว่าต้องการให้ลูกทำอะไรและทำอย่างไร
การสื่อสารให้ลูกรู้อย่างชัดเจนว่าพ่อแม่คาดหวังอย่างไรไม่เพียงแต่ช่วยให้ลูกวัยรุ่นรู้ว่าจะปฏิบัติในเรื่องนั้น
ๆ อย่างไร แต่มันยังเป็นการสื่อสารให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เชื่อถือในตัวลูกและปฏิบัติกับลูกแบบผู้ใหญ่คนหนึ่ง
คือ
เชื่อมั่นว่าลูกจะทำอย่างที่ได้พูดจาตกลงกันไว้โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องไปคอยควบคุมหรือบังคับเหมือนเป็นเด็ก
นอกจากนั้นแล้ว
การทำแบบนี้ของพ่อแม่ยังเป็นการฝึกฝนความรับผิดชอบต่อหน้าที่และสิ่งที่ลูกได้รับมอบหมาย
ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่สำคัญของคนที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต
ประการที่สี่
พ่อแม่จะไม่ควบคุมหรือบังคับแต่จะคอยชี้แนะ
เพราะโดยธรรมชาติวัยรุ่นไม่ชอบการบังคับ
แต่เขาก็ยังจำเป็นต้องมีคนที่คอยชี้แนะและกระตุ้นเตือน
เพื่อเขาจะไม่พลาดในหน้าที่และความรับผิดชอบ อีกทั้งการชี้แนะยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเขาให้ทำสิ่งต่าง
ๆ ที่พ่อแม่คาดหวังได้ดียิ่งขึ้น
ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความไว้วางใจที่พ่อแม่มีต่อเขาเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ขอบเขตของอิสระยิ่งกว้างขึ้น
เพราะเขาได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นคนที่ไว้วางใจได้และมีความรับผิดชอบ
ประการที่สี่ให้สิทธิในการตัดสินใจในขอบเขตที่เหมาะสม
วัยรุ่นมักคิดว่าตนเองเป็นผู้ใหญ่แล้ว
สามารถตัดสินใจเองได้แล้ว จึงอยากตัดสินใจและทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง แต่พ่อแม่ก็มักมองว่าลูกยังเป็นเด็ก
จึงอดเป็นห่วงลูกไม่ได้ จนบางครั้งกลายเป็นการปกป้องมากเกินไป คือ คิดให้ ตัดสินใจให้
และทำทุกอย่างแทนลูก จนลูกไม่ต้องกระดิกตัวทำอะไร
ผมเคยได้ยินคุณแม่บางคนพูดกับลูกวัยรุ่นว่าหน้าที่ของลูกคือเรียนก็พอ
ที่เหลือแม่จะเป็นคนจัดการ
ดังนั้นทุกอย่างที่เกี่ยวกับลูกแม่จะเป็นคนคิดให้ทำให้ทั้งหมด แม้กระทั่งเสื้อผ้า
อาหารการกิน และชีวิตประจำวัน
จริงอยู่แม้ว่าการทำเช่นนั้นก็เกิดจากความรักและความห่วงใยที่พ่อแม่มีต่อลูก
แต่มันไม่เป็นผลดีเลย
การไม่ยอมให้ลูกวัยรุ่นตัดสินใจไม่เพียงทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับในความเป็นผู้ใหญ่ของเขาเท่านั้น
แต่มันยังเป็นผลเสียต่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่ดีของลูกด้วย
เพราะจะทำให้เขาไม่รู้จักคิด ตัดสินใจไม่เป็น ไม่รู้จักวิธีแก้ปัญหา
และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง
ดังนั้นพ่อแม่ต้องส่งเสริมให้ลูกวัยรุ่นรู้จักคิดและตัดสินใจอย่างสร้างสรรค์ในขอบเขตที่เหมาะสม
และลงมือทำสิ่งนั้น ๆ ด้วยตัวเอง การทำเช่นนี้เป็นการฝึกฝนให้ลูกกล้าคิด
กล้าแสดงออก และกล้าที่จะลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่เขาจะกลายเป็นคนที่คิดเป็น เชื่อมั่นในตัวเอง รู้จักแก้ปัญหา
และมีทักษะในการทำสิ่งต่าง ๆ แทนที่จะเป็นผู้ใหญ่ประเภทเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ
ผมเน้นคำว่า “ขอบเขตที่เหมาะสม”
หมายความว่าไม่ใช่ให้ลูกตัดสินใจเองทุกเรื่อง เพราะเขายังไม่พร้อมขนาดนั้น
พ่อแม่จึงต้องกำหนดขอบเขตที่เหมาะสมกับลูกขึ้นมา
เพราะวัยรุ่นแต่ละคนมีวุฒิภาวะไม่เท่ากัน
ขอบเขตในการตัดสินใจแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้
- ขอบเขตที่ลูกสามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง
จะปรึกษาพ่อแม่หรือไม่ก็ได้ เช่น การใช้จ่ายเงินที่ได้รับในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น
- ขอบเขตที่ต้องได้รับอนุญาตจากพ่อแม่ก่อนตัดสินใจ
หมายความว่าลูกต้องพูดคุยกับพ่อแม่ก่อน เช่น การไปเที่ยวต่างจังหวัดกับเพื่อน
การไปค้างบ้านเพื่อน เป็นต้น
- ขอบเขตที่ลูกยังไม่มีสิทธิที่จะตัดสินใจในขณะนี้
เช่น การเลือกโรงเรียน การเลือกสาขาที่จะเรียน เป็นต้น
วัยรุ่นที่รู้ว่าเขาสามารถตัดสินใจอะไรได้ด้วยตัวเอง
อะไรที่ต้องได้รับอนุญาต และอะไรที่ยังไม่อยู่ในสิทธิการตัดสินใจของเขา
จะใช้ชีวิตวัยรุ่นได้อย่างมีความสุข
ในขณะที่กำลังพัฒนาตัวเองสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง
สิ่งที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องกล้าที่จะเชื่อมั่นในตัวลูก
สอนเขาให้รู้จักคิด รู้จักตัดสินใจ และกล้าลงมือทำ พร้อมทั้งคอยให้คำแนะนำปรึกษา
แล้วท่านจะได้เห็นว่าลูกจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น รู้จักคิดมากขึ้น
และตัดสินใจอย่างรอบคอบมากขึ้น พร้อม ๆ กับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของเขา
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นประสบการณ์ตรงของผมและภรรยา
เราทำแบบนั้นกับลูกสาวของเรา ผลก็คือ เราได้ลูกสาวที่คิดเป็น ตัดสินใจเป็น
กล้าลงมือปฏิบัติ และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
ที่รากฐานที่สำคัญของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่
นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนปรารถนาไม่ใช่หรือ!
ที่มา : http://www.thisisfamily.org//
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น